(ธ.ค.66) รัฐบาลเศรษฐา จากนโยบายสู่การลงมือทำจริง 90 วัน "ปฏิรูปโครงสร้าง"

นโยบาย “ปฏิรูปโครงสร้าง”

1. พ.ร.บ. อากาศสะอาด “คืนลมหายใจ คืนอากาศสะอาด”
ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ  โดย นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเกิดการบูรณาการอย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพ เกิดผลเป็นรูปธรรมและเท่าทันต่อเหตุการณ์ จึงมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ) เร่งรัดเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดต่อ ครม. โดยเร็ว
    ทั้งนี้ พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ โดยได้กำหนดให้มีคณะกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเชิงวิชาการ และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ครอบคลุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทุกรูปแบบ รวมถึงมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเชิงพื้นที่ ตลอดจนการมีเครื่องมือหรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และมีบทบาทหน้าที่ในการควบคุม ปรับลด และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศร่วมกัน
 สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. คณะกรรมการเพื่อการจัดการอากาศสะอาด กำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเชิงวิชาการ และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ดังนี้
1.1 คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด 
1.2 คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด 
1.3 คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด
2. ระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดของประเทศ
3. มาตรการการลดและควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด 
4. เขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษทางอากาศ
5. เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด 
6. ความรับผิดทางแพ่งและบทกำหนดโทษ

2. พ.ร.บ. การประมงฉบับใหม่ “ชุบชีวิตประมง ไทยคืนชีวิตให้ชาวประมง”
•    รัฐบาลมีนโยบายพลิกฟื้นอุตสาหกรรมประมงไทยให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ
และประชาชนอีกครั้ง โดยมุ่งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสม 
เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลอย่างยั่งยืน และเร่งรัดแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง ทั้งชาวประมงพื้นบ้านและชาวประมงพาณิชย์ โดยเฉพาะกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ 
ที่มีผลกระทบต่อชาวประมง เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งให้พี่น้องเกษตรกรชาวประมงให้สามารถ
ทำอาชีพประมงได้อย่างยั่งยืน รวมไปถึงการรักษาทรัพยากรทางทะเลของไทยให้มีผลผลิตได้อย่างยั่งยืน
•    (31 ก.ย. 66) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ โดยมีเจตนารมณ์ในการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลเพื่อความยั่งยืน
•    ความคืบหน้า 3 ประเด็นหลัก
-    ทบทวนการดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติชุดเดิมจำนวน 8 ชุด เพื่อปรับเปลี่ยนกลไกการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
-    ขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการ แก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงและอุตสาหกรรมการประมง (IUU-ประมง) โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 6 คณะ ประกอบด้วย 
        1. คณะอนุกรรมการ ปรับปรุงแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่
 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 
        2. คณะอนุกรรมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับภาคการประมง 
        3. คณะอนุกรรมการด้านการเจรจากับองค์กรระหว่างประเทศและต่างประเทศ 
        4. คณะอนุกรรมการจัดระเบียบการประมงทะเล และการฟื้นฟูทะเลและ
 อุตสาหกรรมต่อเนื่อง 
        5. คณะอนุกรรมการช่วยเหลือ ชดเชย ความเสียหายในภาคประมง 
        6. คณะอนุกรรมการศึกษาและพัฒนาระบบการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ทั้งนี้ การดำเนินการของคณะอนุกรรมการด้านการเจรจาฯ มีหน้าที่ไปเจรจากับทางสหภาพยุโรป หรืออียู เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการทำการประมงของไทยในภาคเศรษฐกิจในเวทีโลก
-    การดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เร่งรัดการดำเนินการปรับปรุงกฎหมายลำดับรองเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำการประมงและดำเนินโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลอย่างยั่งยืน โดยให้ดำเนินการชดเชย เยียวยา ในการซื้อเรือที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาประมง IUU และยังไม่ได้ดำเนินการ ให้เร่งรัดดำเนินการให้เสร็จสิ้นด้วย

•    สนับสนุนและปรับกลไกการทำงานแก้ไขปัญหาให้ชาวประมง ในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรองเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและบริบทในการทำการประมงในปัจจุบัน 
•    ให้ความสำคัญกับชาวประมงพื้นบ้านโดยการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการประมงทะเลและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อฟื้นฟูการประมงไทยให้มีความยั่งยืน สร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวประมง 
•    ปัจจุบันภาคประมงไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้าประมงกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี เป็นผู้ส่งออกสินค้าประมงมากเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น กลุ่มอาเซียน และจีน

3. เดินทางปรับปรุงกฎหมาย 4 ด้าน อำนวยสะดวกการลงทุน ยกระดับประเทศ
•    รัฐบาลให้ความสำคัญและเตรียมผลักดันการปรับปรุงกฎหมายสำคัญ 4 ด้านเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ที่เป็นข้อจำกัดอุปสรรค จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เพื่อพิจารณาประเด็นสำคัญที่จะนำมาปรับปรุงกฎหมายก่อน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง และเกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นสำหรับการปรับปรุงกฎหมายจาภาคเอกชนและภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมด้วย 
•    โดยกำหนดประเด็นสำคัญ 4 ด้านในการปรับปรุงกฎหมายระยะแรก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางธุรกิจและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะในการดูแลรับผิดชอบในแต่ละประเด็น ประกอบด้วย
- ด้านการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ : มีศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ เป็นประธานอนุกรรมการ เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตทำงาน การรายงานตัว การยกเว้นใช้แบบรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (ตม.6) ให้ครอบคลุมถึงพาหนะทางบกและทางเรือ การดำเนินการที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวหรือการเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร และการทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ 
- ด้านการพัฒนารับบการอนุญาตหลัก (Super License) : มีนางสาวเพียงพนอ บุญกล่ำ เป็นประธานอนุกรรมการ เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ขอรับอนุญาตในประเภทธุรกิจที่มีความสนใจในการลงทุนประกอบธุรกิจแต่มีใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ให้สามารถใช้ใบอนุญาตหลักเพียงใบเดียวประกอบธุรกิจได้ โดยจะเร่งดำเนินการใน 3 เรื่อง ได้แก่ 
    1. การประกอบกิจการร้านอาหาร 
    2. การประกอบธุรกิจที่พักขนาดเล็ก ส่งเสริมการท่องเที่ยวและยกระดับเศรษฐกิจชุมชน 
    3. การขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย
- ด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ : มีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ เป็นประธานอนุกรรมการ เกี่ยวข้องกับ 2 ประเด็น ได้แก่
    1.  การนำเข้า-ส่งออกสินค้า เพื่อลดข้อจำกัดและระยะเวลาของผู้ประกอบการ เช่น การลดการเปิดตรวจสินค้าถ่ายลำ ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงกฎหมายศุลกากรและกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามประเภทของสินค้านั้น 
    2. การขออนุญาตนำสินค้าเข้า-ออกเพื่อการแสดงสินค้าและนิทรรศการ (MICE) โดยจะช่วยดึงดูดให้มีการนำเข้าส่งออกสินค้าผ่านประเทศไทยจำนวนมากขึ้น
- ด้านการผลักดันพลังงานสะอาด (Clean Energy) : มีนายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา เป็นประธานอนุกรรมการ เกี่ยวกับการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนพลังงานชาติ และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน
•    ภายในเดือนธันวาคม เปิดรับฟังความคิดเห็นของกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความรอบคอบและสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในการปรับปรุงกฎหมาย พร้อมทั้งกำหนดที่จะหารือร่วมกับหอการค้าสหภาพยุโรป และหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ประโยชน์ในการทำงานของคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ
•    คาดว่าภายในปลายเดือนมกราคม 2567 จะสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้ครบถ้วน รอบด้าน และสามารถที่จะกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการเพื่อให้มีความชัดเจนต่อไปได้

4. ผลักดัน พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายให้การรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจากสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีคู่รักเพศเดียวกันอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวจำนวนมาก โดยขาดเครื่องมือทางกฎหมาย  ในการจัดการความสัมพันธ์ทางครอบครัว ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อครอบครัวหลากหลายทางเพศหลายประการ เช่น สิทธิในการตัดสินใจในการรักษา พยาบาล สิทธิในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน และสิทธิในการรับมรดก
    ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่กระทรวงยุติธรรมเสนอเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยกำหนดให้บุคคล 2 คน ไม่ว่าเพศใดสามารถทำการหมั้นหรือสมรสกันได้ แก้ไขคำว่า “ชาย” “หญิง” “สามี” “ภริยา” และ “สามี ภริยา” เป็น “บุคคล” “ผู้หมั้น” “ผู้รับหมั้น” และ “คู่สมรส” เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมคู่หมั้น หรือคู่สมรส ไม่ว่าจะมีเพศใด รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นมีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง              สรุปสาระสำคัญ 5 เรื่อง ดังนี้
-    เหตุการณ์เรียกค่าทดแทนเนื่องจากผิดสัญญาหมั้น กรณีที่คู่หมั้นไปมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ให้ครอบคลุมกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่ง ไปมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นเพศใด กำหนดให้คู่หมั้น           ฝ่ายหนึ่งอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตน หรือผู้ซึ่งกระทำกับคู่หมั้นของตนเพื่อสนองความใคร่ของผู้นั้น หรือคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น
-    การกำหนดอายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนสมรส การสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควรศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้
-    เงื่อนไขแห่งการสมรสใหม่ กำหนดให้หญิงที่ชายผู้เป็นคู่สมรสตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทำการสมรสใหม่กับชายได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่
1. คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
2. สมรสกับคู่สมรสเดิม
3. มีใบรับรองแพทย์ประกาศนียบัตรหรือปริญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบการ รักษาโรคในสาขาเวชกรรมได้ตามกฎหมายว่ามิได้มีครรภ์  
4. มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้
-    การเพิกถอนการสมรส (ในกรณีมิได้มีการขอเพิกถอนการมรส ให้ถือว่าการสมรสสมบูรณ์มาตั้งแต่เวลาสมรส) กำหนดให้กรณีถ้าศาลมิได้สั่งให้เพิกถอนการสมรสจนบุคคลทั้งสองมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ หรือในกรณีการสมรสระหว่างชายหญิงเมื่อหญิงมีครรภ์ก่อนอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ให้ถือว่าการสมรสสมบูรณ์มาตั้งแต่เวลาสมรส
-    เงื่อนไขที่ทำให้การเพิกถอนการสมรสสิ้นสุด กำหนดให้สิทธิขอเพิกถอน การสมรสเป็นอันระงับเมื่อคู่สมรสนั้นมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์หรือในกรณีการสมรสระหว่างชายหญิงเมื่อหญิงมีครรภ์
ความแตกต่าง    
    สำหรับความแตกต่างเมื่อเทียบสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กับ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต นั้นมีความแตกต่างกัน คือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต จะเป็นการรับรอง ชายแต่งกับชาย หรือ หญิงแต่งกับหญิง แต่งงานเป็นคู่ชีวิตกันได้แต่ไม่รับรองเรื่องของสิทธิตามกฎหมายของคู่สมรสนั้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีชายกับชายเป็นสามีภรรยากัน หากใครคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตไป กฎหมายปกติถ้าเป็นชายกับหญิงคู่สมรสจะได้สิทธิทางกฎหมาย อาทิ มรดก สิทธิต่าง ๆ แต่ พ.ร.บ.คู่ชีวิตจะไม่ได้ แต่ถ้าหากเปลี่ยนเป็น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมแล้วแม้ว่าจะเป็นหญิงกับหญิง หรือ ชายกับชาย ถือเป็นคู่สมรสที่จะได้สิทธิของคู่สมรสจากเดิมที่เป็นสามีภรรยากันอย่างไร 
คู่สมรสตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ก็จะได้เหมือนกับคู่สมรสที่เป็นชายกับหญิงเหมือนกัน 
    ซึ่งหลังจากครม. ได้รับรองร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อใช้รับรองการเรื่องสมรสเท่าเทียม แล้วจะส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวันที่ 12 ธันวาคมนี้

5. ยกร่าง พ.ร.บ. ภาพยนตร์และเกม ฉบับใหม่ ลดอำนาจรัฐ ส่งเสริมผู้ประกอบการ
•    (26 พ.ย.66) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์เเละเกม ฉบับใหม่ ว่าปัจจุบันกระทรวงวัฒนธรรมได้ยกร่างกฎหมายไว้เป็นที่เรียบร้อยเเล้ว เพื่อปรับปรุงเเก้ไขให้ทันสมัย เน้นการสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการมากกว่าการสร้างอุปสรรคในการผลิตงานภาพยนตร์ เเละงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการประกอบกิจการทางธุรกิจ
•    ร่างกฎหมายฉบับใหม่จะมุ่งเน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการภาพยนตร์เเละเกม และยังคงมาตราฐานในการคุ้มครองเด็กเเละเยาวชนในการเสพสื่อภาพยนตร์ เเละเกมไว้
•    ในส่วนของสาระสำคัญ ภาครัฐจะไม่มีอำนาจในการสั่งให้ผู้ผลิตเเก้ไขหรือตัดทอนเนื้อหาของภาพยนตร์เเละเกม รวมถึงการสั่งเเบนห้ามฉายด้วย แต่จะสนับสนุนให้นำระบบการจัดเรตมาให้ภาคเอกชนรับรองตนเองตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดร่วมกัน และส่งเสริมให้ภาคเอกชนสร้างสรรค์ผลงาน ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการสร้างเครื่องมือให้คำเเนะนำเเก่ผู้รับชม เเละผู้ปกครองในการดูเเลเด็กเเละเยาวชน ซึ่งรัฐจะควบคุมเท่าที่จำเป็น
•    เพื่อไม่ให้เกิดการซับซ้อนในอำนาจหน้าที่ระหว่าง พ.ร.บ. ของ THACCA ที่กำลังจะมีขึ้น ร่างกฎหมายดังกล่าวจะต้องพิจารณาให้รอบคอบในเรื่องของขอบข่ายอำนาจหน้าที่ รวมถึงการดูเเลเเละส่งเสริมในเรื่องเกม ยังเป็นเรื่องที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคมจะต้องหารือร่วมกันเกี่ยวกับภารกิจในเรื่อง ‘เกม’ ว่าใครจะเป็นผู้ดูเเล เพื่อให้เกิดความชัดเจนในภารกิจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ นำไปสู่กระบวนการออกกฎหมายต่อไป


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar