(ธ.ค.66) รัฐบาลเศรษฐา จากนโยบายสู่การลงมือทำจริง 90 วัน "ขยายโอกาส"

นโยบาย “ขยายโอกาส”

1. ผลักดัน Soft Power เพื่อประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจและเชื่อมโยงวัฒธรรมไทยสู่สากล
รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญกับการส่งเสริม Soft Power ของประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญ ในอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนโครงการ แผนงาน และมาตรการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบสูง ผ่านคอนเทนต์ 11 อุตสาหกรรม ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ เกมภาพยนตร์ ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
อีกทั้งเป็นการส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยในเวทีโลก จัดทำแผนผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทยโดยจะเร่งขับเคลื่อน 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ One Family One Soft Power (OFOS) และ Thailand Creative Content Agency (THACCA) มีเป้าหมายยกระดับทักษะคนไทยจำนวน 20 ล้านคน 
สู่การเป็นแรงงานทักษะขั้นสูงและแรงงานสร้างสรรค์ และจะสามารถสร้างรายได้อย่างน้อย 4 ล้านล้านบาทต่อปี สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านชอฟต์พาวเวอร์ของโลก แนวทางการขับเคลื่อน OFOS และ THACCA 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย 
1. การพัฒนาคนผ่านกระบวนการส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพ โดยเฟ้นหาคนที่มีความฝันและอยากทำความฝันนั้นให้เป็นจริง ทุกช่วงอายุ จำนวน 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครัวเรือน โดยแจ้งลงทะเบียนกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อบ่มเพาะผ่านศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 
2. การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สาขาต่าง ๆ ภายในประเทศ 11 สาขา ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น กำหนดให้เป็นหน้าที่ขององค์กร THACCA ที่ จะถูกจัดตั้งขึ้นในอนาคต ดำเนินการปรับแก้กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย สนับสนุนเงินทุน วิจัยและพัฒนา สร้างแรงจูงใจด้านภาษี จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ทุกจังหวัด เพิ่ม Co-Working Space ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร ส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ ริเริ่มไอเดียสร้างสรรค์ และต่อยอดเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ตั้งแต่ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับประเทศ 
3. การนำอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์รุกสู่เวทีโลก ด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องนำซอฟต์พาวเวอร์ของไทยเผยแพร่สู่ตลาดโลก กำหนดเป้าหมายเป็นระยะสั้นและกลาง เพื่อขับเคลื่อนแผนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ 
•    ภายใน 100 วัน (11 มกราคม 2567) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองพร้อมให้ประชาชนลงทะเบียนแสดงความสนใจเข้ารับการบ่มเพาะ จะมีการปรับปรุงศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ในสถาบัน การศึกษาต่าง ๆ พร้อมกับการปรับเปลี่ยนกฎหมายบางส่วนในระดับกฎกระทรวงหรือพระราชกฤษฎีกาให้ส่งเสริมและสอดรับการดำเนินงานตามนโยบาย และจะร่วมจัด “Thailand Winter Festivals” สร้างปรากฏการณ์เฟสติวัลฤดูหนาวทั่ว ประเทศส่งท้ายปี 2566 
•    ภายใน 6 เดือน (3 เมษายน พ.ศ.2567) เริ่มต้นกระบวนการบ่มเพาะศักยภาพคนผ่านศูนย์
บ่มเพาะทักษะ สร้างสรรค์ พร้อมเสนอร่างพระราชบัญญัติ THACCA เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จะมีการจัดงาน เทศกาลสงกรานต์ทั้งประเทศให้เป็นเทศกาลระดับโลก 
หรือ World Water Festival และจัดงานซอฟต์พาวเวอร์ ฟอรัมนานาชาติ เพื่อระดมความคิดสร้างสรรค์ของคน ในวงการซอฟต์พาวเวอร์ทั้งระดับประเทศและระดับโลก
•    ภายใน 1 ปี (วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2567) กระบวนการบ่มเพาะศักยภาพคน จะสามารถสร้างแรงงานทักษะสูง และแรงงานสร้างสรรค์ ได้จำนวนอย่างน้อย 1 ล้านคน และคาดว่าร่างพระราชบัญญัติ THACCA จะได้รับ ความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาต่อไป รวมไปถึงการส่งเสริมการจัด เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติและเทศกาลดนตรีนานาชาติ สนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในสาขาต่าง ๆ ไป ร่วมงานในระดับโลก
เป้าหมาย Soft Power สาขาท่องเที่ยว ดำเนินงานเป็น 3 ระยะ คือ
-    100 วันแรก ทำแพลตฟอร์มเชื่อมโยง Talent กับผู้ประกอบการ, Tourism Entrepeneur Outreach Program, ทำ Service Brand ของประเทศ
-    6 เดือนแรก ส่งเสริม Online - Digital content ในต่างประเทศ, International travel Blogger's Exchange, ตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคลากรการท่องเที่ยว, ดึงงาน International Travel มาจัดที่ไทย
-    1 ปีแรก Thailand Tourism Data Center, ดันเมืองท่องเที่ยวไทยเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (UCCN), พัฒนาแหล่งท่องเทียวยั่งยืนตาม GSTC, เป็น Creative Powerhouse โลก
เป้าหมาย Soft Power สาขาเฟสติวัล ดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ
-    100 วันแรก สร้างการรับรู้งานเฟสติวัลของไทยสู่สายตาชาวโลก (Nationwide Events/Signature Events), มีงานระดับโลกมาจัดในประเทศไทย 3,000 กิจกรรมโดยรัฐ-เอกชนกระจายทั่วประเทศ
-    6 เดือน ถึง 1 ปี ไทยติด 1 ใน 10 ประเทศ สุดยอดเฟสติวัลโลก, จัด Event และงานเฟสติวัล 10,000 กิจกรรม 365 วันโดยรัฐ-เอกชนทุกจังหวัด, จัด Signature Event และ World Event 20 กิจกรรม
5 Big Event สำคัญของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) 
-    กิจกรรมสีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ปี 2566 นำเสนอประเพณีลอยกระทงอันทรงคุณค่า เน้นย้ำความสุขอย่างวิถีไทย
-    Amazing Thailand Marathon Bangkok 2023 ตอกย้ำความพร้อมของกรุงเทพฯ ประเทศไทยก้าวสู่ Sport Tourism Destination ระดับโลก คาดว่าจะสร้างรายได้กว่า 580 ล้านบาท
-    กิจกรรม Amazing Thailand Passport Privileges มอบสิทธิประโยชน์การใช้จ่ายสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวไทยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ
-    Vijit Chao Phraya 2023 แต่งแต้มสีสันแนวแม่น้ำเจ้าพระยายาม ค่ำคืนตลอดทั้งเดือนธันวาคม
-    ส่งท้ายด้วยกิจกรรม Amazing Thailand Countdown 2024 ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ตอกย้ำภาพลักษณ์ประเทศไทย เป็น Global Countdown Destination ยอดนิยมในใจของนักท่องเที่ยว ทั่วโลก
คกก. พัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เคาะ 5,164 ล้านบาท ดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ 11 ด้าน 
นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ได้เห็นชอบในหลักการที่แต่ละโครงการ กิจกรรม และอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทย 11 ด้าน เสนอ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 5,164 ล้านบาท มีรายละเอียด ดังนี้

1. สาขาเฟสติวัล : ดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูล การสื่อสาร และการผลักดันเฟสติวัลต่าง ๆ งบประมาณ 1,009 ล้านบาท
2. สาขาท่องเที่ยว : จัดระบบการท่องเที่ยวใหม่ทั้งระบบ การสร้างกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว งบประมาณ 711 ล้านบาท
3. สาขาอาหาร : มี 3 โครงการใหญ่ ได้แก่ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย, เชฟชุมชน และเชฟชาแนล งบประมาณ 1,000 ล้านบาท
4. สาขาศิลปะไทย : ดำเนิน 5 โครงาร อาทิ เปิดหอศิลป์บริเวณถนนรัชดาภิเษก จัดตั้งสภาศิลปะแห่งประเทศไทย จัดกองทุนสนับสนุนศิลปการแสดงร่วมสมัย งบประมาณ 380 ล้านบาท
5. สาขาออกแบบ : ส่งเสริมไทยแลนด์แบรนด์ งบประมาณ 310 ล้านบาท
6. สาขากีฬา : เน้นส่งเสริมประสิทธิภาพมวยไทย กิจกรรมมวยไทย ทั้งในและต่างประเทศ งบประมาณ 500 ล้านบาท
7. สาขาดนตรี : พัฒนาหลักสูตรเฉพาะ และส่งเสริมการฝึกอบรม ส่งเสริมศิลปินไทยสู่ระดับโลก งบประมาณ 144 ล้านบาท
8. สาขาหนังสือ : ให้หนังสือไทยออกสู่หนังสือนานาชาติ งบประมาณ 69 ล้านบาท
9. สาขาภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ : การจัดเทศกาลเอกซ์โปรในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์และซีรีส์ ผลักดันสู่ออสการ์ งบประมาณ 545 ล้านบาท
10. สาขาแฟชั่น : พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ และส่งเสริมการแสดงสินค้าในต่างประเทศ งบประมาณ 268 ล้านบาท
11. สาขาเกม : พัฒนาหลักสูตร การส่งเสริมผู้ประกอบการ ส่งเสริมกองทุนและสร้างสนามกีฬาอีสปอร์ตแห่งชาติ งบประมาณ 374 ล้านบาท

หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปหารือกับสำนักงบประมาณอีกครั้ง ซึ่งโครงการบางส่วนมีงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐอยู่แล้ว หรือบางสาขาตั้งงบประมาณน้อยกว่าที่จะต้องใช้ จึงอาจต้องมีการทบทวนให้เสร็จสิ้นภายใน 14 ธันวาคมนี้ ก่อนส่งให้คณะกรรมการฯ ชุดใหญ่พิจารณาอีกครั้งในเดือนมกราคม 2567
นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเฟสติวัล เปิดเผยว่า ในปีหน้าคณะกรรมการฯ ได้มีการจัดเตรียมกิจกรรมไว้กว่า 10,000 กิจกรรม 365 วันทั่วไทย โดยวาระแห่งชาติคือ การจัดกิจกรรม "มหาสงกรานต์ World water Festival" ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าแห่งสงกรานต์โลก ผ่านงานมหาสงกานต์ตลอดเดือนเมษายน โดยมีศูนย์กลางที่ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร มีการออกร้านและจัดแสดงวัฒนธรรมไทย ครอบคลุม 11 ซอฟต์พาวเวอร์ คาดการณ์ว่าจะมีรายได้สะพัดไม่ต่ำกว่า 35,000 ล้านบาท

2. Land Bridge เปิดประตูการค้าสองฝั่ง ลดปัญหาช่องแคบมะละกา
โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ หรือแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) เป็นการเชื่อมโยงทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทยและมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงปรับปรุงการเชื่อมต่อในพื้นที่อันดามันทางตอนใต้ ลดระยะเวลาในการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา ภายใต้แนวคิด “One Port, Two Sides” ในระยะทางทางบก 90 กิโลเมตรทาง ช่วงจังหวัดชุมพร – ระนอง 
“แลนด์บริดจ์” เส้นทางการเดินเรือแห่งใหม่ของโลก
โครงการ “แลนด์บริดจ์” ใช้ขนถ่ายสินค้าหลักระดับภูมิภาคและจะเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชีย ถือเป็นเส้นทางการเดินเรือใหม่ของโลกที่จะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง ลดระยะเวลา
การขนส่งทางทะเล และแก้ปัญหาของความล่าช้าในการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา จาก 9 วัน เหลือ 5 วัน อีกทั้งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางการค้า ประกอบด้วย เขตการค้า เมืองท่าและเขตอุตสาหกรรม และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2568 - 2583 โดยจะมี
การคัดเลือกเอกชนในรูปแบบการประกวดราคานานาชาติ (International Bidding) สัญญาเดียว มีระยะเวลาสัญญาในการบริหาร 50 ปี ประกอบด้วย การพัฒนาท่าเรือ 2 ฝั่ง ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และทางรถไฟ ในส่วนของกลุ่มนักลงทุนนั้นจะต้องมีการรวมกลุ่มกันของทั้งผู้ประกอบการเดินเรือ ผู้ให้บริการ
โลจิสติกส์ ผู้ประกอบการท่าเรือ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และนักลงทุนด้านอุตสาหกรรม ซึ่งกฎหมายใหม่
จะถูกร่างขึ้นเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการกำหนดสิทธิพิเศษให้กับนักลงทุน จากการประเมิน พบว่า ภายใต้ระยะเวลาสัญญา 50 ปี นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์ด้านการเงินไม่น้อยกว่า 10% โดยมีระยะเวลาคืนทุนที่ 24 ปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นการประเมินจากรายได้จากการบริหารท่าเรือ 
และขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือเท่านั้น ทั้งนี้ หากนักลงทุนมีการพัฒนาเพิ่มเติมจากการอุตสาหกรรม และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย จะช่วยสร้างผลประโยชน์ด้านการเงิน และระยะเวลาคืนทุนจะดีกว่าการประเมินข้างต้น
ทั้งนี้ เมื่อดำเนินโครงการอย่างเต็มรูปแบบจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม สร้างงาน 280,000 ตำแหน่ง GDP ของไทยจะเติบโต 5.5% ต่อปี หรือเทียบเท่ากับ 670,000 ล้านดอลลาร์
Thailand Landbridge Roadshow ดึงดูดภาคธุรกิจต่างชาติร่วมลงทุน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่ารัฐบาลจะใช้โอกาสการประชุมเอเปค ครั้งที่ 30 ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ จัดงาน Thailand Landbridge Roadshow ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี 
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมประชาสัมพันธ์โครงการ Landbridge พร้อมให้ข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการ ทั้งโอกาสทางธุรกิจ รูปแบบการลงทุน ศักยภาพทำเลที่ตั้งของพื้นที่โครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ เพื่อดึงดูดนักลงทุนภาคธุรกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ให้ความสนใจ ทั้งสายการเดินเรือ ผู้บริหารท่าเรือ กลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มผู้ลงทุนด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น 
ซึ่งกลุ่มนักลงทุนต่างให้ความสนใจประเด็นโอกาสในการลงทุนของโครงการ
ซึ่งที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงคมนาคม ได้เดินหน้าประชาสัมพันธ์ให้นานาประเทศได้รู้จักโครงการเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้มีนักลงทุนจากหลากหลายประเทศต่างให้ความสนใจโครงการเป็นอย่างมาก อาทิ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศฝั่งตะวันออกกลาง และสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น
ส่องมูลค่า “แลนด์บริดจ์” เมกะโปรเจ็กต์ 1 ล้านล้านบาท
โครงการลงทุนแลนด์บริดจ์มีมูลค่าการลงทุนถึงประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยการลงทุนจะเป็นรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรัฐ (PPP) ประกอบไปด้วยการลงทุน 4 ระยะ ครอบคลุมโครงการท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร และระนอง มอเตอร์เวย์ ท่อขนส่งน้ำมัน ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน รองรับการขนส่งสินค้าจากทางเรือจากท่าเรือ 2 ฝั่ง โดยการลงทุนในแต่ละเฟสของโครงการมีมูลค่า ดังนี้
•    ระยะที่ 1 ประมาณการลงทุน 6.09 แสนล้านบาท
•    ระยะที่ 2 ประมาณการลงทุน 1.647 แสนล้านบาท
•    ระยะที่ 3 ประมาณการลงทุน 2.28 แสนล้านบาท
•    ระยะที่ 4 ประมาณการลงทุน 8.51 หมื่นล้านบาท


3. เปิดประตูการค้าชายแดน 4 ด้าน 4 ประเทศ ยกระดับเศรษฐกิจระหว่างประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา มาเลฯ
ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา 11 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยืนยันจะพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดนรวมถึงจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งเพื่อเปิดประตูการค้า เพียง 78 วัน หลังแถลงนโยบายและบริหารประเทศ นายกรัฐมนตรีได้ทำตามสัญญา เดินหน้าลงพื้นที่และพบปะผู้นำประเทศ เพื่อเปิดประตูการค้าชายแดน 4 ด้านกับ 4 ประเทศ ดังนี้
•    สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา 
(15 กันยายน 2566) นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ตรวจด่านพรมแดนแม่สายแห่งที่ 1 จังหวัดเชียงราย และสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 1 ด่านพรมแดนไทย-เมียนมา เพื่อผลักดันการค้าสิ่งถูกกฎหมายชายแดนซึ่งมีมูลค่าสูงและเพิ่มไปได้อีกหลายเท่า ผ่านการเพิ่มความคล่องตัวในการค้าขาย
•    ประเทศลาว
(30 ตุลาคม 2566) นายกรัฐมนตรีได้เยือนประเทศลาวอย่างเป็นทางการ และได้ร่วมเป็นประธานเปิดสถานีรถไฟเวียงจันทร์ (คำสะหวาด) ซึ่งเป็นโครงการที่ไทยให้การสนับสนุนและจะเป็นการขยายเส้นทางคมนาคมทางรางระหว่างไทย-ลาวจากเส้นทางระยะแรก (หนองคาย - ท่านาแล้ง) ถึงเวียงจันทร์ 
โดยนายกรัฐมนตรีขอให้เร่งรัดการจัดทำกรอบความตกลงเพื่อเดินรถไฟมาถึงสถานีดังกล่าวในต้นปีหน้า 
เพื่อเป็นประโยชน์ร่วมคนทั้งสองประเทศในการค้าขายและการท่องเที่ยวระหว่างกัน
•    ประเทศกัมพูชา
(28 กันยายน 2566) นายกรัฐมนตรีได้เยือนประเทศกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ยืนยันความใกล้ชิดและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เสนอจัดการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วม เพื่อเดินหน้ายกระดับจุดผ่านแดนและเพิ่มปริมาณการค้าชายแดน รวมถึงศูนย์แรกรับเหยื่อการค้ามนุษย์และกลุ่มเสี่ยง
(25 พฤศจิกายน 2566) นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่เร่งการก่อสร้างอาคาร CIQ ของกรมศุลกากร 
ณ สะพานมิตรภาพไทย - กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน - สตึงบท) และตรวจจุดผ่านแดนถาวรคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เร่งยกระดับเป็นศุลกากรแบบ One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและการค้าระหว่างสองประเทศ
•    ประเทศมาเลเซีย 
(11 ตุลาคม 2566) นายกรัฐมนตรีเยือนประเทศมาเลเซียอย่างเป็นทางการ เสนอจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เดินหน้าความร่วมมือการค้าร่วมกัน โดยหวังเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายแดน เป็นพื้นที่เพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และได้ชวนนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเยี่ยมด่านสะเดา
(27 พฤศจิกายน 2566) นายกรัฐมนตรีให้การต้อนรับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเยือนไทยเพื่อการเจรจาทำงาน โดยลงพื้นที่ด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ต่อยอดการพบกันครั้งก่อน ซึ่งจะเร่งผลักดันการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่
กับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย และสะพานสุไหง โก-ลก จังหวัดนราธิวาส กับรันเตาปันจัง แห่งที่ 2 
โดยมาเลเซียจะช่วยเร่งรัดการก่อสร้างถนนฝั่งมาเลเซียสำหรับการก่อสร้างสะพานสุไหง โก-ลก เพื่อกระตุ้นศักยภาพพื้นที่ชายแดนไทย -มาเลเซีย
4. มิติใหม่เจรจา ไทย - มาเลเซีย ต่อยอดความร่วมมือพัฒนาชายแดน แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดการเดินทางลงพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ณ ด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ในวันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายนนี้ เพื่อสำรวจความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย และมีกำหนดการหารือทวิภาคีกับดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพื่อผลักดันในประเด็นที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้หารือกันไว้ ในเรื่องสถานการณ์การค้าและการท่องเที่ยวบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย ก่อนเดินทางไปสำรวจจุดเชื่อมถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซียร่วมกัน
จังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดขนาดใหญ่เป็นอันดับ 27 ของประเทศ เป็นอันดับที่ 3 ของภาคใต้ และเป็นขนาดเศรษฐกิจใหญ่ลำดับที่ 1 มีด่านศุลกากรทั้งสิ้น 5 ด่าน ประกอบด้วยด่านศุลกากรสะเดา ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ ด่านศุลกากรบ้านประกอบ ด่านศุลกากรสงขลา และด่านศุลกากรท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งด่านที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลาคือ ด่านศุลกากรสะเดา เพราะถือเป็นด่านชายแดนทางบกสำคัญที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุดของไทย ในแต่ละปีมีสินค้าและนักท่องเที่ยวผ่าน
เข้า-ออกเป็นจำนวนมาก 
ที่ผ่านมา ด่านศุลกากรสะเดา ประสบปัญหาการจราจรอย่างมาก จึงมีการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และรองรับการขยายตัวของธุรกิจการค้าชายแดน และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือการสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างไทย-มาเลเซีย โดยหากเปิดให้บริการเต็มระบบได้ จะช่วยลดปัญหาการจราจรบริเวณหน้าด่านสะเดาเดิม อีกทั้งยังช่วยผลักดันความร่วมมือเศรษฐกิจ ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย
นอกจากนี้ จังหวัดสงขลายังได้สนับสนุนการขับเคลื่อนการผลักดันเชิงนโยบาย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยขอยกเว้นการยื่นรายการ ตามแบบรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (แบบ ตม.6) ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นการชั่วคราว โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยกเว้นการยื่นรายการตามแบบรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (แบบ ตม.6) ที่บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 - 30 เมษายน 2567 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการออกประกาศให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็วต่อไป
ทั้งนี้ มาเลเซียนับเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญและมีความสัมพันธ์หลากหลายมิติกับไทย การเข้าพบหารือของนายกรัฐมนตรีไทยและมาเลเซียบริเวณชายแดนด่านสะเดา สะท้อนความความร่วมมือในทุกด้าน โดยเฉพาะการค้าการลงทุน และความสัมพันธ์ระดับประชาชน ซึ่งมาเลเซียเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 4 ของไทย และเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยในอาเซียน (โดยตั้งเป้าจะเพิ่มมูลค่าการค้าให้บรรลุเป้าหมายที่ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (30 billion USD) ภายในปี 2568) ซึ่งการตกลงร่วมกันของรัฐบาลทั้งสองฝ่ายเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทยและมาเลเซีย เพื่ออำนวยความสะดวก เพิ่มความเชื่อมโยงในการเดินทาง รวมถึงการค้าขายบริเวณชายแดนระหว่างกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อประโยชน์ของประชาชนไทยและมาเลเซียโดยตรง ทั้งการค้า ลงทุน การท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจ และทางด้านสังคม ตลอดจนการไปมาหาสู่ระหว่างกัน
5. เปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร
วันที่ 15 ธ.ค. 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาอนุญาตให้เปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ทั่วประเทศ 22 ล้านไร่ จำนวน 1,628,520 ราย เอกสารสิทธิรวม 2,205,561 ฉบับ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะเริ่มทยอยเปลี่ยน สปก. 4-01 เป็นโฉนดฯ ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป 
รู้จักที่ดิน สปก.
"ที่ดิน ส.ป.ก." หรือที่ดิน "ส.ป.ก. 4-01" คือ เอกสารแสดงการครอบครองที่ดินที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกให้กับประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน   ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ระบุ ผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน ส.ป.ก. มี 3 ประเภท คือ
1. เกษตรกร
2. ผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก
  – ผู้ยากจน มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/คน/ปี
– จบการศึกษาทางเกษตรกรรม ไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่า
– เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
3. สถาบันเกษตรกร
– กลุ่มเกษตรกร
– สหกรณ์การเกษตร
– ชุมชนสหกรณ์การเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
ผู้มีสิทธิยื่นคำขอเปลี่ยนโฉนด
•    เกษตรกรที่ถือเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. อยู่แล้ว และยังใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จะได้รับการเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดิน ภายในระยะเวลา 2 ปี โดยได้รับสิทธิ์ตามเอกสารสิทธิ์ที่ตนถืออยู่ แต่ยังไม่สามารถซื้อขายที่ดินดังกล่าวได้ในระยะเวลา 5 ปี จากวันที่ได้รับโฉนด
•    กรณีที่มีความจำเป็นในการกู้ยืม (การจำนอง) หรือจำเป็นจะต้องขายที่ดินที่ได้รับโฉนดนั้นก่อนเวลา 5 ปี ให้ดำเนินการผ่านธนาคารที่ดิน (ที่จะจัดตั้งขึ้น) โดยธนาคารที่ดินจะคิดราคาที่ดินตามราคาประเมินของที่ดินที่มีโฉนด
•    เกษตรกรที่ยังไม่ได้เป็นผู้ถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน ส.ป.ก. (หรือเป็นผู้ซื้อ/เปลี่ยนมือที่ดิน ส.ป.ก.) เกษตรกรจะได้รับการเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดิน หาก (ก) เกษตรกรมีการใช้ประโยชน์ที่ดินในการทำการเกษตรต่อเนื่องมา 10 ปีขึ้นไป และ (ข) มีเอกสารหรือพยานการทำข้อตกลง/การยินยอมจากผู้ที่มีชื่อในเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. รวมถึง (ค) เกษตรกรผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีทรัพย์สินไม่เกิน 10 ล้านบาท เกษตรกรดังกล่าวจะสามารถเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดได้ไม่เกิน 50 ไร่
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำคัญ 
1.    การจัดที่ดินยังคงเป็นไปเพื่อประกอบเกษตรกรรมตามศักยภาพของพื้นที่ 
2.    สามารถเปลี่ยนมือได้ระหว่างเกษตรกรที่มีคุณสมบัติด้วยกันตามที่กฎหมายกำหนด 
3.    ต้องปลูกไม้มีค่าในพื้นที่ตามสัดส่วนที่ ส.ป.ก. กำหนด 
4.    สามารถใช้ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้ทุกแห่ง โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ 
5.    ต้องถือครอง ส.ป.ก. 4-01 และทำประโยชน์มาไม่น้อยกว่า 5 ปี 
สถานที่ยื่นเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. เป็นโฉนด
1.    ส.ป.ก. ทุกจังหวัด
2.    หน่วยบริการเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ของ ส.ป.ก.
3.    ระบบ Online Web site ส.ป.ก. www.alro.go.th
เอกสารที่ต้องเตรียม
1.    ส.ป.ก.4-01 (ฉบับผู้ถือ) หรือ สำเนาสัญญาเงินกู้ ธ.ก.ส. (กรณีกู้เงิน ธ.ก.ส.)
2.    บัตรประจำตัวประชาชน
3.    สำเนาใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ - สกุล (ถ้ามี)
มอบของขวัญปีใหม่ ยกระดับชีวิตและคุณภาพของเกษตรกร
•    เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้และจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
•    ส.ป.ก. ยังเข้าไปพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็น ทั้งถนน แหล่งน้ำ ระบบกระจายน้ำ ระบบไฟฟ้า ที่อยู่อาศัย


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar